About Us

ความเป็นมา
     ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดให้ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and innovation Center: AIC) ภายใต้การดำเนินการขับเคลื่อนคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ในปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีการเกษตร แหล่งอบรมบ่มเพาะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรม สำหรับเกษตรกรสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินการด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต การเกษตรแปรรูป และการตลาด  โดยอาศัยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดทั้ง 77 จังหวัด และให้มีศูนย์เครือข่าย AIC ภายในจังหวัด ในจังหวัดสระบุรี โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งของศูนย์ฯและดำเนินกิจกรรมด้วยความพร้อมด้านวิชาการงานวิจัยและบริการวิชาการด้านโคนมในพื้นที่สระบุรีของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์อาหารของคณะวิทยาศาสตร์ซึ่งมีโรงงานต้นแบบสำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์จังหวัดสระบุรีจึงเห็นสมควรให้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้านนวัตกรรมการผลิตโคนมและผลิตภัณฑ์นมจังหวัดสระบุรีและพื้นที่โดยรอบ
จากความสำเร็จของนิทรรศการเสมือนจริงศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-สระบุรี ๒๕๖๕ หรือ AIC Chula-Saraburi Virtual Expo 2022 เป็นการจัดนิทรรศการร่วมกับการประชุมสัมนาออนไลน์ โดยอาศัยโปรแกรมที่เป็นตัวช่วยในการไลฟ์สดหรือเรียกว่า Streaming (สตรีมมิ่ง) ในวันที่ 24-25 มีนาคม 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการจัดเวทีสำหรับเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการทางนวัตกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ การเจรจาธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเปิดโอกาสให้ภาครัฐและผู้ประกอบการทางเกษตรและปศุสัตว์ ได้พบปะกับเกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่สนใจนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรจังหวัดสระบุรีและจังหวัดข้างเคียง โดยภายในส่วนนิทรรศการ จังหวัดสระบุรีขับเคลื่อนนวัตกรรมาการเกษตรร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดสระบุรี  ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสระบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี สระบุรีพัฒนาเมือง นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนในช่วงถ่ายทอดสดการสัมมนาวิชาการ ทั้งวิทยากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 ท่าน และผู้เข้าร่วมชมสัมมนาผ่านระบบ StreamYard และ Facebook จำนวนประมาณ 17,000 ครั้ง ได้ร่วมกันอภิปราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อการสัมมนาเชิงลึก เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต การเกษตรแปรรูป และการตลาด  ของสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรไทย
เนื่องจากจำนวนผู้เข้าอบรมและดูงานที่ตั้งไว้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจและต้องการที่จะเผยแพร่ความรู้ในวงกว้าง จึงมีการปรับปรุงพัฒนาเนื้อหาไปใช้การสอนให้เป็นระบบออนไลน์ โดยจะมีความยืดหยุ่นในเรื่องของระยะเวลาการเข้าอบรมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของผู้สนใจเข้าอบรม และเพิ่มจำนวนรับผู้เข้าอบรม อีกทั้งยังตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดทำหลักสูตรและองค์ความรู้ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งจำเป็น

วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในด้านสัตวแพทย์และการเลี้ยงและดูแลปศุสัตว์ตลอดถึงการเกษตรแก่ผู้ที่สนใจ
2. เพื่อเพิ่มศักยภาพการเผยแพร่บทเรียนออไลน์ให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน
3. เพื่อสร้างหลักสูตรการอบรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอันได้แก่ สัตวแพทย์ บุคลากรทางด้านการเกษตร